เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ห้องประชุมโรงแรมฮิลตันภูเก็ตอาเคเดีย รีสอร์ท แอนด์สปา อ.เมือง จ.ภูเก็ต พล.ต.ท.ธีระเดช รอดโพธิ์ทอง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมความร่วมมือระหว่างสมาชิกตำรวจสากลภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก เรื่อง “ความร่วมมือการปราบปรามอาชญากรรมทางด้านเทคโนโลยีข้ามชาติ ครั้งที่ 11” หรือการประชุม 11th INTERPOL Asia-South Pacific Working Party on I.T.Crime ซึ่งสำนักตำรวจแห่งชาติเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ในระหว่างวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ 2553 โดยมีประเทศสมาชิกเข้าร่วมประชุมจำนวน 14 ประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ลาว เป็นต้น
พ.ต.อ.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทศโนโลยี กล่าวว่า การจัดประชุมระหว่างตำรวจสากลภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกเกี่ยวกับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในภูมิภาคนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้ตำรวจมีความรู้เท่าทันกับการพัฒนาของอาชญากรรมทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาที่รวดเร็ว และกลุ่มอาชญากรเหล่านี้ก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นความร่วมมือระหว่างกันในการปราบปรามอาชญากรรมดังกล่าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการป้องกันอาชญากรรมทางด้านเทคโนโลยี เพราะเป็นความรู้ใหม่ที่ตำรวจไทยจะต้องพัฒนาให้มีความเท่าทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
“ปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีถือเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงมาก เพราะผู้กระทำความผิดสามารถอยู่ที่จุดใดในโลกนี้ก็ได้ เป็นอาชญากรรมที่ไร้พรหมแดน สามารถสร้างความเสียหายได้อย่างมหาศาล ฉะนั้นการจะปราบอาชญากรรมดังกล่าวจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกประเทศในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน”
พ.ต.อ.พิสิษฐ์ กล่าวว่า จากความร่วมมือระหว่างของกลุ่มประเทศสมาชิกในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติทางด้านเทคโนโลยี พบว่าสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้เป็นจำนวนมาก เช่น กลุ่มขโมยข้อมูลธนาคารและกลุ่มอื่นๆ เป็นต้น ที่ผ่านมาผลจากการประสานงานระหว่างกันทำให้สามารถยับยั้งความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจได้อย่างทันท่วงที และในการประชุมร่วมกันครั้งนี้จะมีการนำคดีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศมาแลกเปลี่ยนข้อมูลประการณ์ของการแก้ปัญหาระหว่างกัน เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านสืบสวนสอบสวนรวมทั้งการพัฒนาเทคนิคใหม่ นอกจากนี้ยังจะได้แลกเปลี่ยนการจัดเก็บข้อมูลและร่องรอยพยานหลักฐานในระบบ
อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.พิสิษฐ์ กล่าวอีกว่า ข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดด้านอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ผ่านมาได้รับการประสานข้อมูลจากประเทศสมาชิกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ละปีมีมากกว่า 1,000 คดี แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยจะเป็นข่าว เพราะจะเกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ เนื่องจากคดีส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับเศรษฐกิจและความมั่นคง ส่วนแนวโน้มการเกิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีปัจจุบันกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีความเสี่ยงค่อนข้างสูงโดยเฉพาะประเทศไทยและเป็นเมืองท่องเที่ยว ทำให้การแฝงตัวของกลุ่มแกงค์อาชญากรต่างชาติที่แฝงตัวเข้ามาในลักษณะของนักท่องเที่ยวทำได้ง่าย และนับเป็นวงจรปกติของการเคลื่อนไหวกลุ่มองค์การดังกล่าว เมื่อประเทศต่างๆ สามารถพัฒนาการใช้กฎหมายจนเข้มแข็งกลุ่มองค์กรอาชญากรรมเหล่านั้นก็จะย้ายฐานไปยังประเทศกำลังพัฒนาใหม่ๆ แทน
ข้อมูลจาก :: เสงี่ยม เอียดตน ส.ปชส.ภูเก็ต
-----------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น