วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ตำรวจภูเก็ตดึงคนพื้นที่เปิดโครงการ “ป่าตองเมืองปลอดภัย”


ตำรวจภูเก็ตดึงผู้ประกอบการ-ประชาชนในพื้นที่เปิดโครงการป่าตองเมืองปลอดภัยหวังสร้างสร้างความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวกลับ พร้อมแบ่งการทำงานออกเป็น 6 พื้นที่ ตั้งนายตำรวจ/ผู้นำชุมชนร่วมดูแล
           ที่โรงแรมภูเก็ตเกรซแลนด์รีสอร์ท แอนด์ สปา ต.ป่าตอง อ.กะทู้ ภูเก็ต ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ตร่วมกับตำรวจภูธรกะทู้ จัดประชุมโครงการป่าตองพื้นที่ปลอดภัยหรือ Patong safety Zone ขึ้น มี พล.ต.ต.ชนสิษฎ์ วัฒนวรางกูล ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต พร้อมด้วย ดร.จรัสโรจน์ บถดำริ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ผู้ชำนาญการด้านกล้องวงจรปิด (CCTV) นายเปี่ยน กี่สิ้น นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง พ.ต.อ.จิรภัทร โพธิ์ชนะพันธ์ ผกก.สภ.กระทู้ และนายจิรวัฒน์ นะมาตร ปลัดอำเภอกระทู้ ร่วมเป็นวิทยากรบรรยาย เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่คนในพื้นที่ในการดำเนินโครงการ โดยมีภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการทั้งในพื้นที่ป่าตองเข้าร่วม กว่า 700 คน
      
       พล.ต.ต.ชนสิษฎ์ วัฒนวรางกูล ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต กล่าวว่า โครงการป่าตองพื้นที่ปลอดภัย หรือ Patong Safety Zone เกิดขึ้นเนื่องจากที่ผ่านมา จังหวัดภูเก็ตเกิดคดีอาชญากรรมขึ้นบ่อยครั้ง และหลายครั้งยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของเมืองท่องเที่ยว เช่น กรณีเมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา มีเหตุการณ์นักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียถูกชิงทรัพย์บริเวณหาดกะตะน้อย ตำบลกะรน จนทำให้มีนักท่องเที่ยวเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บ จนสื่อต่างชาติหลายชาติโดยเฉพาะคู่แข่งสำคัญทางด้านการท่องเที่ยวของจังหวัด ภูเก็ต นำไปเสนอข่าวโจมตีภูเก็ตว่าเป็นเมืองที่อันตราย ภูเก็ตเป็นเมืองอาชญากรรม และอื่นๆ ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่จังหวัดภูเก็ตเป็นอย่างมาก
            ดังนั้น เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวกลับมา ทางตำรวจภูธรภูเก็ต และสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงมีแนวความคิดจัดทำโครงการภูเก็ตเมืองสันติสุข ขึ้น โดยนำร่องประกาศให้ป่าตองเป็นเมืองแห่งความปลอดภัย หรือ Patong Safety Zone ขึ้น เพื่อสร้างความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินและความมั่นใจให้กแก่นักท่อง เที่ยว กู้ภาพลักษณ์การเป็นเมืองท่องเที่ยวกลับมา ก่อนจะมีการขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ จึงได้จัดให้มีการประชุม และชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน และผู้ประกอบการในพื้นที่ และเพื่อแสวงหาความร่วมมือจากประชาชนในการช่วยกันดูแลความปลอดภัยในพื้นที่
      
       ซึ่งในการดำเนินการนั้น จะมีการแบ่งพื้นที่ป่าตองออกเป็น 6 โซน ในแต่ละโซนจะมีนายตำรวจระดับสารวัตรเป็นหัวหน้าโซน และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วม นอกจากนั้น จะมีตัวแทนจากชุมชนเข้ามาร่วมทำงานกับตำรวจเพื่อให้การทำงานมีความครอบคลุม นอกจากนั้น จะมีการตั้งจุดตรวจเข้มในพื้นที่ตั้งแต่ทุ่งทอง กมลา ต่อเนื่องกะรน รวมทั้งจะต้องนำเทคโนโลยีมาใช้บูรณาการ เช่น การบูรณาการกล้องวงจรปิดเข้าด้วยกันเพื่อให้ทุกคนสามารถดูภาพจากกล้องวงจร ปิดผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยทำเป็นระบบเปิดภายใต้โครงการตาวิเศษดิจิตอล การติดตั้งกล้องที่สามารถตรวจป้ายทะเบียนรถ นำเครื่องตรวจบัตรประชาชนมาใช้ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะการใช้เครื่องตรวจบัตรประชาชนจะทำให้ทราบว่าใครมีหมายจับค้างเก่าบ้าง เฉพาะในส่วนของของจังหวัดภูเก็ต มีหมายจับค้างเก่าประมาณ 3,000 หมายจับ
          ด้าน ดร.จรัสโรจน์ บถดำริ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ผู้ชำนาญการด้านกล้องวงจรปิด (CCTV) กล่าวว่า การมาร่วมในครั้งนี้ก็เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ ป่าตองเพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องของกล้อง CCTV และสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังเหตุร้าย โดยการทำกล้องวงจรปิดให้เป็นระบบเปิด ซึ่งคิดว่าจะดำเนินการให้เกิดขึ้นที่ภูเก็ตเป็นที่แรกในการบูรณาการกล้อง เข้าสู่ระบบซอฟต์แวร์ ซึ่งในส่วนของป่าตองนั้นมีกล้องอยู่แล้วส่วนหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นระบบปิด ยังไม่มีการทำในระบบเปิด แต่หลังจากนี้จะมีการหารือ และนำเข้าสู่ระบบเปิดซึ่งจะทำให้คนเข้าไปดูกล้องวงจรปิดได้จากทุกที เกิดเหตุขึ้นประชาชนก็สามารถแจ้งได้เลย
      
       ขณะที่ พ.ต.อ.จิรภัทร โพธิ์ชนะพันธ์ ผู้กำกับการ สภ.กระทู้ กล่าวว่า การดำเนินโครงการป่าตองเมืองปลอดภัยนั้น ดำเนินการขึ้นเพื่อรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว ตลอดจนเป็นการอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ และเพื่อสร้างความพึงพอใจในด้านการดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป นอกจากนั้น ยังเป็นการสร้างเครือข่ายการเฝ้าระวัง และให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลความปลอดภัย และเพื่อบูรณาการระบบกล้องวงจรปิดในพื้นที่ป่าตองให้เชื่อมโยงกันได้เพื่อ เฝ้าระวังพื้นที่ โดยมีวิธีดำเนินการ 9 ด้าน
           ประกอบด้วย 1.การกำหนดโซนพื้นที่ปลอดภัยในพื้นที่ป่าตองออกเป็น 6 โซน โดยมีนายตำรวจระดับสารวัตรเป็นหัวหน้าโซน มีรองสารวัตรและชั้นประทวนประมาณ 6-8 นายประจำชุด 2.จัดทำข้อมูลท้องถิ่นในแต่ละโซน เช่น ข้อมูลรถรับจ้าง ผู้ประกอบการ จำนวนกล้องCCTV 3.จัดตั้งตัวแทน หรือประธานภาคประชาชนเป็นตัวแทนประจำโซน 4.จัดหาอาสาสมัครแนวร่วมของแต่ละโซนเข้ามาปฏิบัติงานร่วมกัน 5.การปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำโซน และอาสาสมัครประจำโซน เช่น การจัดสายตรวจเดินเท้าการตั้งจุดสกัด การจัดทำข้อมูลบุคคลต้องสงสัย
      
       6.การปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เสี่ยง และบุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยงกระทำผิดต่อนักท่องเที่ยว 7.บูรณาการระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดโดยการผูกเชื่อมต่อสัญญาณระหว่างภาครัฐ เอกชน เพื่อเข้าสู้ระบบการเฝ้าระวังพื้นที่โดยให้ประชาชนทั่วไปสามารถเฝ้าระวังดู กล้องวงจรปิดทางอินเตอร์เน็ตได้ 8.การตรวจสอบบุคคลผ่านระบบเครื่องสมาร์ทการ์ดเพื่อค้นหาหมายจับ และ 9.ทำการประชาสัมพันธ์ การแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวก แก่นักท่องเที่ยว
ข้อมูลจาก...ผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: